วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

เตือนภัย แมลงหน้า ม.เกษตร ห้ามตบ อันตรายถึงตาย

เตือนภัยทั่วโลก แมลง (หรือหนอน?) ชนิดนี้ ถ้ามาเกาะบนตัวคุณห้ามตบเด็ดขาด

หัวข้อนี้ เป็นข่าวลือ ที่สร้างความแตกตื่น และมีการสร้างข่าวอย่างต่อเนื่อง แบบมั่วไป มั่วมา โดยไม่คิดจะหาข้อมูลจริงจัง แถมยังตื่นตะหนก ขนาดมองผึ้ง เป็นแมลงก้นกระดก เอามาแชร์กันต่อ เป็นเรื่องเป็นราวได้อีก 

ลองดูลำดับของข่าวลือนี้กันครับ เริ่มจากรูปนี้ ที่มาการนำภาพของ แมลงก้นกระดก มาวางเทียบกับแผลพุพองที่ดูน่ากลัวมาก แต่ ไม่ได้เกิดจากแมลงก้นกระดกแต่อย่างใด แถมข้อความที่เขียน ก็บอกว่าพิษนั้น อันตรายถึงตายได้ ถึงขนาดบอกว่า "ให้ช่วยกันแชร์ แชร์แล้วช่วยชีวิตคนได้" (ข้อความแบบนี้ มันอยู่ในกลุ่ม หลอกให้แชร์ชัดๆ )
ซักพัก ก็มีภาพการชี้แจง แผลที่เกิดจากพิษของแมลงก้นกระดก กันออกมาให้เห็นความจริง คือ ต้องระวังละ แต่ไม่ขนาดที่จะต้องตื่นตูมกันขนาดนั้น 


สรุปรายละเอียดของ แมลงชนิดนี้ ได้ประมาณว่า นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ก็แมลงก้นกระดกเป็นแมลงที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน มักพบตามทุ่งนา และร่องสวนผัก ในตัวแมลงจะมีสารพิษ "เพเดอริน" หากพบเห็นห้ามไปบี้ตัวแมลงเด็ดขาด เพราะจะทำให้สารพิษถูกขับออกมาและเข้าสู่ตัวเราทันที ถ้าสัมผัสผิวจะมีอาการแสบ ไหม้ หรือหากสัมผัสถูกตาก็อาจติดเชื้อ จนมีผลต่อการมองเห็นได้ แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ตาบอด 100% อย่างที่มีข้อมูลแชร์กัน

            สำหรับวิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกพิษของแมลงก้นกระดกนั้น นพ.จินดา แนะนำว่า ถ้าถูกพิษให้รีบล้างผิวหนังด้วยน้ำเปล่าทันที แต่ถ้ามีผื่นแดงขึ้นก็ให้ทาสเตียรอยด์ชนิดเข้มข้น-ปานกลาง แต่ถ้าพิษรุนแรงขนาดทำให้เกิดแผลที่มีน้ำเหลืองไหลออกมา ให้ประคบด้วยน้ำเกลือก่อนจะทาสเตียรอยด์

สรุปข้อควรระวังเมื่อเจอ 

            1. อย่าบี้มัน เพราะสารพิษอยู่ในร่างกายแมลง ให้จับไปปล่อยหรือเอาเทปกาวแปะ (ปกติมันไม่กัด หรือกัดก็ไม่มีพิษ)
            2. มันมาตามไฟ และมักลอดมุ้งลวดได้ ดังนั้นช่วงที่ระบาดมาก ๆ ให้เปิดไฟล่อไว้นอกบ้าน ไม่ก็เปิดแอร์นอน 
            3. ตัวที่ตายแล้วก็ปล่อยพิษได้ ดังนั้นตื่นเช้ามาควรสะบัดผ้าห่ม ปัดที่นอน และดูดี ๆ ก่อนเข้านอนว่ามีซากแมลงตายอยู่ไหม
            4. ถ้าเข้าตา ล้างให้มาก ๆ อันนี้แหละที่ควรรู้ 

เมื่อคนเข้าใจ ก็ดีไป แต่ก็มีอีกหลายคน ที่ได้รับความหวังดีนี้ จากเพื่อนๆ และก็ไม่ได้เช็คข่าว รับแต่ความกลัว โดยไม่สนความจริง เกิดไปเจอรูปผึ้ง หน้า ม. เกษตร นี้เข้า 

ด้วยความหวังดีอีก ก็เลยเอาข้อความที่กลัวขึ้นสมองนั้น ค้นหาอย่างฉับไว้ มาปะติดปะต่อกัน ส่งต่อได้มาเป็นแบบนี้
 

บางคนกลัวไม่เห็นภาพ ไปค้นหาภาพ แมลงก้นกระดกมาแปะติดให้ดูกันอีกที เทียบกันให้เห็นๆ (เออ.. ดูไหมว่ามันไม่เหมือนกัน หรือมีอำนาจมืดอะไรมาบังตา??) ได้มาเป็นรูปนี้



สรุป 
  • แมลงนี้มีชื่อนะครับ ว่าแมลงก้นกระดกไม่ใช่ แมลงสายพันธุ์ใหม่อะไร และก็เชื่อว่าชาวบ้านรู้จักกันมานานแล้วละ แต่ชาวกรุง ชาวเน็ต คงไม่รู้ เพราะวันๆ อยู่แต่กับคอม
  • แมลงนี้ ชื่อแมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก หรือ แมลงเฟรชชี่ มีพิษจริง แต่ไม่ถึงตาย (ถ้าไม่กินเข้าไป) และไม่ได้ทำให้เป็นแผลขนาดในภาพที่ส่งต่อๆ กัน  
  • ส่วนที่เกาะอยู่บนสะพานลอย ที่บอกว่าเป็นหน้า ม.เกษตร มันเป็น ผึ้ง นะครับ ไม่ใช่แมลงตัวนี้ สังเกตดูนิด


ขอบคุณที่มาข้อมูลที่ถูกต้องจาก
http://hilight.kapook.com/view/99918
http://webboard.news.sanook.com/forum/index.php?topic=3815052
http://headline.bungkan.com/data/1/1939-1.html



วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

ปลาดอร์รี่ คือ ปลาสวาย ไม่ควรกิน อย่าโดนหลอก จริงๆ คือปลาอะไร

ปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ เกิดเป็นกระแส เมื่อมีคนส่งต่อข้อความกันว่า อย่าโดนหลอก ทำเอาหลายคนตื่นตูมกันใหญ่ บอกไม่กินแล้ว กินแล้วไม่อร่อย จริงๆ คืออะไร

มาทำความรู้จักกับ ปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ ปลาดีมีคุณค่าทางโภชนาการ โดย วงศ์อร อร่ามกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง

ช่วงนี้ปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ ปลาดอรี่ ปลาสวาย เกิดเป็นกระแสพูดกันให้ได้ยินเข้าหู ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีข้อมูลอยู่พอสมควร จึงขอหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาชี้แจงแถลงไขสักครั้ง และเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่างสายพันธุ์ปลาที่โดนพาดพิงถึงในที่นี้ จะขออธิบายก่อนว่าเรากำลังพูดกันถึงปลา 2 สายพันธุ์หลัก

สายพันธุ์แรกคือ ปลาดอรี่ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า จอห์น ดอรี่ (John Dory) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zenopsis conchifera อาศัยอยู่ในทะเลลึกของมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นปลาตัวกลมๆ อ้วนๆ เนื้อปลามีสีขาว รสชาติอร่อย และมีการนำเข้ามาขายในประเทศไทยมานานแล้ว เเต่ข้อเสียก็คือราคาเเพงมาก


สายพันธุ์ที่สองคือ ปลาในกลุ่มแพนกาเซียสหรือปลาสวาย ซึ่งปลาในตระกูลนี้มีหลายชนิด เช่น ปลาบึก ปลาคัง ปลาเทโพ เป็นต้น สำหรับสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับปลาตระกูลแพนกาเซียสที่มีการพูดถึงกันอยู่ขณะนี้คือ ปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Pangasius Hypophthalmus” มีลักษณะเนื้อสีขาว รสชาติอร่อยใกล้เคียงกับปลาจอห์นดอรี่ แต่ราคาถูกกว่า จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อดอร์รี่ อย่างติดปากมาเนิ่นนาน

ประเทศไทยมีการนำเข้าปลากลุ่มแพนกาเซียสดอร์รี่นี้จากประเทศเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ โดยที่เวียดนามนั้นมีปลาแพนกาเซียส 2 ชนิดหลักๆคือ BASA และ TRA เป็นเหตุให้เกิดความสับสนเรียกปลาชนิดนี้กันไปหลายชื่อ เช่น ปลาบาซาบ้าง ปลาเผาะบ้าง ดังนั้น กลุ่มผู้นำเข้าจึงต้องการสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง และเริ่มมีการพูดคุยกันถึงชื่อทางการค้าที่จะใช้ตรงกัน

“แพนกาเซียสดอร์รี่” เป็นชื่อสากล ขณะที่ “สวาย” เป็นชื่อท้องถิ่น
แม้ว่าผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าปลาแพนกาเซียสดอรี่คือปลาสวายสายพันธุ์หนึ่งก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งยังสับสนระหว่าง ปลาจอห์นดอรี่กับปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ ผู้นำเข้าและผู้ค้าเองก็พยายามที่จะทำความเข้าใจกับผู้บริโภคให้ถูกต้อง จึงมีการระบุชื่อสากลอย่างแพนกาเซียสดอร์รี่ไว้ เพื่อให้สามารถเข้าใจตรงกันได้ทั่วโลก ขณะที่คำว่า สวาย หรือปลาสวาย เป็นชื่อท้องถิ่นที่ใช้กันเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น
ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกหนังสือเรื่องแนวทางการแสดงฉลากเนื้อปลาสวายหรือเนื้อปลาในตระกูลแพนกาเซียสเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติร่วมกันสำหรับผู้ค้าและสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค โดยระบุให้ปรับแก้ไขการแสดงฉลากให้ถูกต้อง ภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 ความว่า
1. หากผู้ใดมีความประสงค์จะนำเข้าปลาสวายที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius Hypophthalmus เพื่อจำหน่าย ฉลากจะต้องแสดงชื่อภาษาไทยกำกับว่า ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่
2. หากผู้ใดมีความประสงค์จะนำเข้าปลาโมง หรือปลาเผาะ หรือปลาบึก ซึ่งเป็นปลาในตระกูล Pangasius เพื่อจำหน่าย ให้แสดงชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius spp ฉลากจะต้องแสดงชื่อภาษาไทยกำกับว่า ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่
จากประกาศของ อย.ดังกล่าว ทำให้ต้องมีการระบุคำว่า แพนกาเซียส ลงไปบนฉลาก ซึ่งหมายถึงสายพันธุ์หนึ่งของปลาสวายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว และผู้ค้าทุกรายก็ถือปฏิบัติตามคำสั่งของทางราชการอย่างเคร่งครัด


อย่างไรก็ตาม แม้ปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ที่นำเข้าจากเวียดนามและปลาสวายไทยจะจัดเป็นปลาชนิดเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพเนื้อปลา เนื่องจากวิธีการเลี้ยงและสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงตลอดจนอาหารที่ใช้ ส่งผลให้ลักษณะของเนื้อปลา สีสัน และกลิ่น แตกต่างกัน นอกจากนี้ลักษณะการวางจำหน่ายของปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ก็แตกต่างกับปลาสวายที่ขายกันตามตลาดสดทั่วไปในเมืองไทย”


นางสมหญิงเปี่ยม สมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ประเทศเวียดนามผลิตปลาสวายที่เลี้ยงให้มีเนื้อสีขาวชมพูและตั้งชื่อว่า"ดอลลี่"นั้น เป็นการสร้างมูลค่าให้กับปลาสวาย โดยการใช้ชื่อนี้ทำให้คนไทยจำนวนมากเข้าใจผิดว่าเป็นปลาชนิดใหม่ ประกอบกับปลาสวายที่เลี้ยงในบ้านเราจะมีเนื้อสีเหลือง ไขมันมาก เพราะได้รับอาหารประเภทแป้งและไขมัน ซึ่งเป็นการผลิตแบบลดต้นทุน และเลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่อย่างหนาแน่น ทำให้เศษอาหารที่ให้เหลือปลากินไม่หมดเกิดการเน่าเสียหมักหมมอยู่ก้นบ่อ ปลาที่เลี้ยงจึงมีกลิ่นคล้ายกลิ่นโคลน วิธีแก้ไขเพียงย้ายหรือถ่ายน้ำให้สะอาด 5-7 วันก่อนการจับก็จะหมดกลิ่นไม่พึงประสงค์นี้ ส่วนการเลี้ยงปลาสวายที่ให้เนื้อออกสีขาวชมพูเช่นเดียวกับปลาสวายของเวียดนามนั้น ไม่ยากสามารถทำได้โดยการให้อาหารที่เหมาะสมไม่มีไขมันมากเกินไป และเลี้ยงในที่น้ำถ่ายเทได้ดีสม่ำเสมอ ก็จะได้คุณภาพปลาสวายที่มีเนื้อขาวชมพูเช่นเดียวกับปลาสวายเวียดนามเช่นกัน (อ้างอิง http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/policy/20110804/403324/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2.%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1.html)

ปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ เป็นปลาเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม ในตระกูลเดียวกับปลาสวาย ปลาคัง ปลาเทโพ และปลาบึก เลี้ยงได้ในน้ำจืด จัดเป็นปลาหนัง ไม่มีเกล็ด เนื้อนุ่ม มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะอุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็น (Essential Amino Acids) อย่างครบถ้วน มีกรดไขมันจำเป็นอย่างโอเมก้า -3  วิตามินบี 2 ซึ่งร่างกายต้องใช้ในการเผาผลาญโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต มีวิตามินดีที่กระดูกจำเป็นต้องใช้ในการสะสมแคลเซียม นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี ไอโอดีน และแมกนีเซียมด้วย 

ล่าสุด ขอคัดลอกข่าวของ ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ที่อธิบายถึงปลาดอร๋รี่ผ่านสื่อว่าเป็นการเรียกผิดแบบไทยที่ชอบเรียกอะไรสั้นๆ ปลาดอร์รี่ที่แท้จริงนั้น เป็นปลาทะเลน้ำลึก ส่วนดอร์รี่ที่เรียกกันผิดๆ เป็นปลาน้ำจืด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangsius Hypophthalmus และผู้นำเข้าใช้ชื่อทางการค้าว่า Pangsius Dory คำว่า Pangsius แปลว่าปลาสวายอยู่แล้ว และมีการเติมคำว่า Dory ลงไป เพื่อให้ความหมายว่าปลาสวายเนื้อสีขาว เพราะมีลักษณะพิเศษ เนื้อไม่เหลืองเหมือนปลาสวายบ้านเรา เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและอาหารที่ใช้เลี้ยงต่างกัน เพราะปลาสวายที่เลี้ยงในเวียดนาม บริเวณปากแม่น้ำโขงที่มีกระแสน้ำไหลแรง ปลาต้องออกแรงว่ายน้ำเยอะ ไขมันเลยมีน้อย ประกอบกับการเลี้ยงที่ไม่ให้อาหารที่มีส่วนผสมของข้าวโพดเนื้อปลาจึงไม่เหลืองเท่านั้นเอง...นับเป็นคำอธิบายสั้นๆ ที่สร้างความเข้าใจได้อย่างง่ายดายทีเดียว 

การจะให้คนไทยได้บริโภคโปรตีนจากเนื้อปลากันอย่างกว้างขวางนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะปลาเป็นอาหารสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป คนทุกระดับควรจะได้กินโปรตีนเนื้อปลาที่สะอาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนในชาติอย่างที่ทราบกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแพนกาเซียสดอร์รี่  สวาย  ช่อน  เทโพ หรือ แซลมอน  ก็ล้วนแต่ดีต่อการบริโภคทั้งนั้น ... 

สรุปโดยผู้เขียน:
จะว่าโดนหลอกก็ไม่เชิงนะครับ ต้องบอกว่าไม่รู้ซะมากกว่า จะบอกว่าเป็นปลาสวายที่เรารู้จักกันเลย ก็ไม่เชิง เป็นญาติๆ กันมากกว่า หรือหากจะบอกว่าเป็นปลาสวายเหมือนกันก็เป็นปลาสวายที่ถูกเลี้ยงมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากที่เราเห็นในไทย ทำให้โตไม่เนื้อไม่เหมือนกัน ส่วนจะกินหรือไม่ ก็แล้วแต่ครับ ความจริงคือ มันเป็นปลาน้ำจืด ที่มีคุณค่า มีโอเมก้า 3 ที่ราคาไม่แพงตัวหนึ่ง ที่ทุกท่านสามารถเลือกที่จะทานได้ตามใจชอบครับ ไม่ชอบก็ไม่ต้องกิน ไม่มีใครบังคับ ขอแค่ว่าอย่าไม่กินเพียงเพราะว่ามีอคติว่าเป็นปลาสวาย หรือกลัวถูกหลอก ก็แล้วกันครับ


ขอบคุณที่มาข้อมูล:
http://www.cpfworldwide.com/th/mdcntr/fact_sheet_detail.aspx?id=2609
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=870073
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/policy/20110804/403324/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2.%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1.html

ข่าวลือ ข่าวลวง ที่ส่งต่อผ่านจดหมายออน์ไลน์ และสื่อออน์ไลน์ต่างๆ อย่างเฟตบุค หรือ ไลน์ มาหาข้อเท็จจริงกัน

Blog นี้ เกิดจากผู้เขียนเอง เบื่อ กับข่าวลือ ข่าวลวง ที่มีมาตั้งแต่ยุค Fwd Mail จนถึงยุคสังคมออน์ไลน์ อย่าง Facebook และ Line แต่ผู้เขียนเอง ยังคงได้รับการส่งต่อ Hoax อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด ทั้งจากคนที่ไม่รู้จัก หรือจากคนใกล้ตัวอย่างญาติ พี่น้อง หรือนักเล่น net มือใหม่ อย่างพ่อแม ของผู้เขียนเอง



เวลาได้อะไรอย่างนี้มา ก็ต้องคอย เป็นคนที่มา search หา ที่มา หาข้อเท็จจริง ด้วยเจตนา ไม่อยากให้ตื่นตะหนก หรือมีความเชื่ออะไรผิดๆ ส่งต่อกันไปในสังคมนี้ และก็คอยแนะนำ ไปด้วยความกังวล ว่าจะโดนคนนั้นๆ ไม่ชอบหน้าเอา

บางครั้งก็ต้อง search ซ้ำๆ บางคนแนะนำไปแล้ว ก็ไม่สนใจ ไม่เคยมองถึงผลกระทบ จากการส่งต่อความเชื่อผิดๆ ไป จะบอกว่าเป็นคนที่ไม่มีความคิดก็ไม่ใช่ ไม่มีความรู้ก็ไม่ใช่  แต่ไม่ใส่ใจ

จึงขอสร้าง blog นี้ไว้รวบรวม เพื่อทุ่นแรงตัวเอง ในการตอบ การหา และหวังว่าจะเป็นที่ที่ช่วยให้ความเข้าใจกับสังคมนี้ ต่อไป

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณผู้มีความรู้ทุกๆ ท่าน ที่ช่วยชี้แจง หาข้อเท็จจริง ในเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้เขียนรวบรวมมาไว้ในที่นี้ด้วยครับ